เวลาที่เครียด หรือรู้สึกไม่สบายใจ การได้พูดคุยกับใครสักคนที่เป็น “พื้นที่ปลอดภัย” ให้เราได้เป็นหนึ่งในแนวทางที่จะช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้น สำหรับบางคนมักจะรู้สึกว่าการ “คุยกับเพื่อน” เป็นพื้นที่ปลอดภัยได้มากที่สุด แต่ในอีกแง่หนึ่งก็มักจะได้ยินว่าการ “คุยกับนักจิตวิทยา” ก็เป็นการมาหาพื้นที่ปลอดภัยเหมือนกัน
แต่แม้ว่าจะเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” เหมือนกัน การพูดคุยกับเพื่อน และนักจิตวิทยา ก็มีหลายประเด็นที่มีความแตกต่างกัน บทความนี้ on mind way จึงได้รวบรวมประเด็นเหล่านั้นมานำเสนอให้ทุกคนได้เข้าใจมากขึ้น
1. ต่างกันที่…เป้าหมายของการพูดคุย
นักจิตวิทยา >> ช่วยให้เรา..กลับมาทำความเข้าใจตัวเอง เข้าใจสาเหตุของปัญหา และความไม่สบายใจ รวมถึงร่วมกันหาแนวทางในการจัดการ หรือรับมือกับปัญหาในแบบที่เหมาะกับตัวเรา
เพื่อน >> ช่วยให้เรา..ได้ระบายความรู้สึก ได้รับรู้ว่ามีคนรอบตัวที่พร้อมรับฟัง และได้รับกำลังใจ เมื่อเจอกับปัญหา
2. ต่างกันที่…รูปแบบการพูดคุย
นักจิตวิทยา >> เป็นการพูดคุยบำบัด เน้นไปที่การทำความเข้าใจเรื่องราวของ ผู้มารับบริการ เป็นพื้นที่ให้ผู้มารับบริการได้เล่าเรื่องราว และความรู้สึกของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ผ่านการทำงานด้วยหลักการทางจิตวิทยาการปรึกษา
เพื่อน >> เป็นการพูดคุยอย่างเป็นกันเอง จึงมีการโต้ตอบกันในฐานะเพื่อน สามารถคุยได้หลายเรื่องพร้อมกัน และเป็นการผลัดกันเล่าเรื่องราวของตัวเอง
3. ต่างกันที่…การให้คำแนะนำ
นักจิตวิทยา >> จะไม่บอกว่าต้องเลือกทางไหน แต่..ใช้การถามคำถามปลายเปิด การสะท้อนความคิด และความรู้สึก เพื่อให้ผู้มารับบริการหาแนวทางแก้ปัญหาที่เหมาะสม และเป็นตัวเอง โดยไม่มีการให้คำแนะนำจากประสบการณ์ส่วนตัว
เพื่อน >> เน้นฟังและแชร์เรื่องราว เช่น ปลอบใจให้รู้สึกดีขึ้น รวมทั้งมีการแนะนำผ่านจากความคิดเห็นส่วนตัวหรือประสบการณ์ของตัวเอง
4. ต่างกันที่…การรักษาความลับ
นักจิตวิทยา >> จะทำงานภายใต้จรรยาบรรณวิชาชีพ ในเรื่องของการรักษาความลับ และการไม่มีความสัมพันธ์ หรือรู้จักกับผู้มารับบริการนอกเหนือจากบริบทของการทำงาน
เพื่อน >> แม้ว่าเพื่อนอาจจะไม่ได้เอาเรื่องของเราไปเล่าให้คนอื่นฟัง แต่หากปัญหาของเรามีความเกี่ยวข้องกับเพื่อนคนอื่น อาจจะทำให้รู้สึก “อึดอัด” เพราะเป็นเรื่องยากที่จะทำเป็นไม่รู้เรื่องราวที่เกิดขึ้น
5. ต่างกันที่…ความเป็นตัวเองของผู้รับบริการ
นักจิตวิทยา >> เอื้อให้ผู้รับบริการ สามารถเป็นตัวเอง และแสดงความรู้สึกได้อย่างเต็มที่ โดยนักจิตฯ จะ..รับฟังเรื่องราวโดยไม่ตัดสิน และไม่มีอคติ เพราะไม่มีประสบการณ์ที่เคยรู้จักกันเข้ามาปะปนในการทำงาน
เพื่อน >> แม้จะรู้สึกสนิท และไว้ใจเพื่อนอย่างเต็มที่ แต่ในบางปัญหาหรือบางเรื่อง เราก็อาจจะไม่สามารถเล่า หรือแสดงความรู้สึกได้ทั้งหมด เพราะเป็นห่วงว่าเพื่อนจะเครียด หรือไม่สบายใจ รวมถึงกลัวเพื่อนอาจมองเราไม่ดี
หลังจากนี้ เมื่อเราต้องเจอกับปัญหา หรือความไม่สบายใจ สิ่งแรกที่อาจจะลองกลับมาถามตัวเองคือเราต้องการพื้นที่ปลอดภัยแบบไหนที่จะพอดี และเหมาะกับความต้องการของเรามากที่สุด เพื่อจะช่วยให้เรารับมือกับสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่ได้ด้วยใจที่มั่นคงมากขึ้น
🌱🌱🌱🌱🌱🌱🌱🌱🌱🌱🌱
🔆 อยากนัดหมายเพื่อปรึกษากับนักจิตวิทยา แอดไลน์สอบถามได้ที่
Line : @onmindway / คลิกเพื่อแอดไลน์ https://lin.ee/JB46W3W
🔆 รายชื่อนักจิตวิทยาของเรา
https://onmindway.com/psychologist/