เป็นปกติที่ยิ่งคนเราสนิทกันมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสได้เห็นถึงตัวตนต่าง ๆ ซึ่งกันและกันมากยิ่งขึ้น จึงไม่แปลกเลยที่จะมี “ความขัดแย้ง” “กระทบกระทั้ง” “ผิดใจ” หรือ “ไม่เข้าใจกัน” ยิ่งในชีวิตคู่แล้ว ยิ่งมีความซับซ้อนขึ้นไปใหญ่ เพราะมันเต็มไปด้วย “ความคาดหวัง” และ “ความต้องการ” ที่เรามีทั้งต่อตัวเองและมีต่อคนรักของเรา จึงทำให้ความขัดแย้งมักเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง
ฉะนั้นวันนี้ on mind way จึงอยากนำเสนอ “constructive communication” ซึ่งจะเป็นตัวช่วยให้เราสื่อสาร โดยลดระดับ “ความรุนแรง” จากความขัดแย้ง แล้วเปลี่ยนเป็น “ความเข้าใจ” กันมากยิ่งขึ้น
1. ฝึก “สติ” เพื่อให้น้ำเสียงและท่าทางเป็นมิตรมากขึ้น: ในระหว่างที่เกิดความขัดแย้งกัน หลายครั้งการสื่อสารมักเต็มไปด้วยอารมณ์ ซึ่งมักทำให้ “น้ำเสียง” หรือ “ท่าทาง” ของเราดูรุนแรง เช่น ต่อให้เราพยายามที่จะฟัง แต่อีกฝ่ายสัมผัสได้ถึงความหงุดหงิดของเรา ก็อาจทำให้เขารู้สึกว่าเราไม่ฟังก็ได้
2. ฝึก “ฟัง” อย่างเข้าใจ (Active Listening): Active Listening นั้น “ไม่ใช่การฟังผ่าน ๆ เพื่อที่จะได้พูดในมุมของเรา” แต่มันคือ “การฟัง” เพื่อให้เข้าใจในแง่มุมของอีกฝ่าย ฉะนั้น “วางธงในใจของคุณลง” และ “พยายามฟังเสียงของอีกฝ่ายให้เข้าใจ” ยิ่งคุณฟังมาก ใจที่ต่อต้านอีกฝ่ายจะลดลง ในทางกลับกันเมื่อคุณจะพูดความรู้สึกของคุณ อีกฝ่ายก็จะเย็นลงและพร้อมฟังคุณมากขึ้นเช่นกัน
3. ฝึกสังเกตและทำความเข้าใจ “ความรู้สึก” ของอีกฝ่าย: หลังจากที่เราพยายาม Active Listening เราลองนำสิ่งที่ได้ฟังมาพยายามทำความเข้าใจต่อว่าคู่ของเรากำลัง “รู้สึก” อะไรอยู่ เช่น คู่ของเราอาจจะพูดถึงเราว่าเราไม่แคร์เขา ดูแคร์เพื่อนมากกว่า จากตัวอย่างนี้ คู่ของเราอาจกำลังรู้สึก “น้อยใจ ซึ่งถ้าเรากลับมาสังเกตที่ความรู้สึกของอีกฝ่าย ก็อาจจะเป็น จุดเริ่มต้นที่จะทำความเข้าใจกันได้อย่างถูกทางมากขึ้น
4. ใช้ “I” Statements แทน “You” Statements: หลายครั้งเมื่อมีการกระทบกระทั้ง เรามักจะพูดบางสิ่งบางอย่าง ที่เหมือนเป็น “การโทษ” อีกฝั่งหนึ่งเช่น “เธอไม่เคยตั้งใจฟังในสิ่งที่เราพูดเลย” แต่ถ้าเราลองเปลี่ยนประธานของประโยคเป็น “ตัวเรา” (“I” Statement) แล้วลองลดการพูดถึง “คู่ของเรา” ในประโยคลง เช่น “เรารู้สึกว่าเวลาที่เราพูด เราไม่ได้รับการฟังเท่าไหร่เลย” จากตัวอย่างอย่างประโยคที่เราใช้ “I” Statement อย่างน้อย ๆ ก็จะช่วยให้อีกฝ่ายรู้สึกถูกโจมตี หรือรู้สึกว่าเป็นคนผิดน้อยลง
5. เมื่อเกิดความขัดแย้งอย่าเพิ่งโต้เถียง “ให้หยุด และทิ้งเวลา” แล้วค่อยตกลงกันว่าจะ “กลับมาคุยกัน” เมื่อไหร่: เมื่อเกิดความขัดแย้งสิ่งที่มักตามมาคือ “อารมณ์” เช่น โกรธ หงุดหงิด เสียใจ ผิดหวัง เป็นต้น และบ่อยครั้ง คนเรามักจะไหลไปกับอารมณ์ ฉะนั้น ถ้าเรายังไม่สามารถกำกับอารมณ์ได้ ให้ “หยุด” ที่จะโต้เถียง เพื่อกลับไปกำกับอารมณ์ รวมถึงทำความเข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้น ที่สำคัญ อย่าปล่อยให้ปัญหา หรือ ความขัดแย้งนั้นๆ ผ่านไป ควรตกลงกันว่า เมื่อไหร่จะกลับมาพูดคุยถึงความขัดแย้งอีกครั้ง เพื่อปรับความเข้าใจ
สุดท้ายนี้ หากถามว่า “ความขัดแย้ง” มันดีหรือไม่ดีต่อความสัมพันธ์ คำตอบ คือ ขึ้นอยู่กับว่าผลลัพธ์ของความขัดแย้งเป็นอย่างไร หากทุกคนสามารถใช้ constructive communication เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น เชื่อว่าจะยิ่งทำให้เกิดความเข้าใจ ตลอดจนนำไปสู่การปรับตัวในความสัมพันธ์ที่ดีมากขึ้น
🌱🌱🌱🌱🌱🌱🌱🌱🌱🌱🌱
🔆 อยากนัดหมายเพื่อปรึกษากับนักจิตวิทยา แอดไลน์สอบถามได้ที่
Line : @onmindway / คลิกเพื่อแอดไลน์ https://lin.ee/JB46W3W
🔆 รายชื่อนักจิตวิทยาของเรา
https://onmindway.com/psychologist/