รู้ไหมว่า เราจะเป็นเพื่อนที่ดีให้กับ “ตัวเอง” และ “คนอื่น” ได้มากขึ้น ด้วยการฝึกที่จะมี และแสดง Empathy ให้มากขึ้น
Empathy คือความสามารถในการเข้าใจและร่วมรู้สึกไปกับความรู้สึกของคนอื่น เหมือนกับว่าเรามองเรื่องที่เกิดขึ้นผ่านมุมมองของเขา ในที่นี้บางคนอาจรู้สึกว่า Empathy ถือเป็นลักษณะนิสัยที่ติดตัวมา หรืออาจเป็นเรื่องยากที่จะสอนกันได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่เราอยากชวนมองว่าหากทุกคนได้เข้าใจว่า Empathy คืออะไร ได้กลับมาสังเกตคำพูด ความคิด หรือการกระทำของตัวเองเวลารับฟังเรื่องราวของคนอื่น และได้ลองนำแนวทางจากบทความนี้ไปปรับใช้กับตัวเอง Empathy ก็จะถือเป็นอีกทักษะที่สามารถเรียนรู้ ฝึกฝนและพัฒนาได้เช่นกัน
บทความนี้เราจึงอยากนำเสนอ 4 แนวทางในการฝึก empathy ด้วยตัวเองมาฝากกัน
1. ตั้งใจฟังเรื่องของเขา > อยู่กับความคิดของตัวเอง
ด้วยการให้เวลาและพื้นที่แก่คนอื่นเพื่อให้เขาได้เล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาอย่างเต็มที่ รวมทั้งรับฟังเรื่องราวและความรู้สึกของเขาให้ชัดเจน ในขณะที่ฟังเขา เราไม่จำเป็นต้องพยายามหาวิธีที่จะตอบกลับหรือหาคำแนะนำ เพราะแม้เราจะหวังดี แต่อาจจะทำให้เราพลาดโอกาสที่จะเข้าใจเขาได้มากขึ้น หรือทำให้อีกฝ่ายรู้สึกเหมือนถูกตัดสินได้
2. แยกเรื่องราวของตัวเอง ออกจากเรื่องราวของคนอื่น
เรื่องราว และประสบการณ์ของแต่ละคนมีความต่างกัน แม้บางครั้งเราจะผ่านเรื่องราวที่คล้ายคลึงกัน แต่รายละเอียดของเรื่องราว ความคิด และความรู้สึกของแต่ละคนไม่มีทางเหมือนกัน ดังนั้นเราจึงไม่ควรด่วนสรุปหรือพยายามแนะนำแต่วิธีของตัวเอง เพราะอาจทำให้เขารู้สึกไม่ได้รับความเข้าใจหรือยิ่งรู้สึกกดดัน ลองวางเรื่องราวของตัวเองไว้แล้วฟังเรื่องราวของเขาจากตัวเขาจริงๆ
3. ตระหนัก และรับรู้ถึงความรู้สึกของตัวเองและคนอื่น
ในระหว่างที่รับฟังคนอื่น เราต้องตระหนักถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นในตัวเอง เพื่อให้เราเท่าทันและวางความรู้สึกของตัวเองในระหว่างรับฟังคนอื่น โดยเฉพาะเมื่อเกิดความรู้สึกทางลบ และหมั่นสังเกต และตระหนักถึงความรู้สึกของคนอื่นที่แสดงออกทั้งทางคำพูด ท่าทาง หรือพฤติกรรม ด้วยใจที่ยอมรับและเป็นพื้นที่ให้เขาได้แสดงอารมณ์ออกมาอย่างเต็มที่ เพื่อให้เขารับรู้ว่ามีเราอยู่ข้างๆ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
4. แสดงให้เห็นว่าเราอยากเข้าใจเขามากขึ้น
เราสามารถแสดงความเข้าใจเข้าได้ผ่านการสรุปเรื่องราวที่เขาเล่าด้วยภาษาของเราเพื่อให้เขารับรู้ถึงการถูกรับฟัง และเปิดโอกาสให้เขาอธิบายเพิ่มเติมหากมีจุดที่เราเข้าใจผิด รวมทั้งการพยายามถามคำถามปลายเปิดซึ่งเป็นคำถามที่ช่วยให้เขาได้แสดงความคิดและความรู้สึกของเขา เพื่อให้เขาได้เข้าใจตัวเองและเราได้เข้าใจเขามากขึ้น รวมทั้งอาจถามถึงสิ่งที่เขาต้องการจากเราเพื่อให้บทสนทนาเป็นประโยชน์กับเขามากที่สุด ว่าเขาต้องการแนวทาง คำแนะนำ หรือพื้นที่ที่อยากได้รับการรับฟังจากเรา
อย่างไรก็ตาม การจะมี Empathy ให้กับคนอื่นก็จำเป็นต้องอาศัยความพร้อมและพลังใจของเราพอสมควร ดังนั้นสิ่งสำคัญก็คือเมื่อไหร่ที่เรารู้สึกว่าไม่พร้อม หรือตัวเองกำลังเจอกับเรื่องที่หนักอยู่ ก็ไม่เป็นไรที่เราอาจจะพักการเข้าใจคนอื่น และกลับมา Empathy คนที่สำคัญกับเราที่สุด ซึ่งก็คือ ตัวเราเอง
🌱🌱🌱🌱🌱🌱🌱🌱🌱🌱🌱
🔆 อยากปรึกษานักจิตวิทยา แอดไลน์สอบถามได้ที่
Line : @onmindway / คลิกเพื่อแอดไลน์ https://lin.ee/JB46W3W
🔆 รายชื่อนักจิตวิทยาของเรา
https://onmindway.com/psychologist/