จะรู้ได้อย่างไร? ว่าเมื่อไหร่ควรไปหานักจิตวิทยา

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “สุขภาพจิต” ถือเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงและให้ความสำคัญมากขึ้นในสังคมไทย คำว่า “ซึมเศร้า” “วิตกกังวล” “ภาวะหมดไฟ” “ความเครียด” กลายเป็นคำที่คุ้นหูและคุ้นตามากขึ้นจากข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ซึ่งการเรียนรู้ เข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพจิตมากขึ้นนั้น ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บุคคลเปิดใจและสนใจที่จะศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับบริการการช่วยเหลือทางสุขภาพจิตอย่างการพูดคุยกับนักจิตวิทยาการปรึกษามากขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตามการรับบริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยากับนักจิตวิทยาการปรึกษานั้น ก็ยังถือว่าเป็นรูปแบบของบริการที่ค่อนข้างใหม่ในประเทศไทย ดังนั้นหลายคนก็อาจจะยังมีคำถามหรือความสงสัยกับการเข้ารับบริการในประเด็นต่าง ๆ เราจึงเขียนบทความนี้เพื่อช่วยตอบคำถามที่หลายคนอาจสงสัยและมีความซับซ้อนในการหาคำตอบนั่นก็คือ “เมื่อไหร่เราถึงควรไปหานักจิตวิทยา”

ก่อนอื่น ต้องบอกก่อนว่าคำถามนี้ไม่ได้มีคำตอบที่แน่นอนหรือถูกต้องที่สุด ข้อมูลที่รวบรวมมาเป็นเพียงตัวช่วยที่ให้ทุกคนได้ลองกลับมาสังเกตสุขภาพใจของตนเองว่ากำลังเป็นอย่างไร และมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนที่จะต้องมองหาความช่วยเหลือจากบุคคลรอบข้าง หรือผู้เชี่ยวชาญไม่ว่าจะเป็นจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาการปรึกษา โดยเราจะแบ่งออกเป็น 2 ประเด็นหลักที่เป็นตัวช่วยให้คุณตัดสินใจ

 

ประเด็นแรกคือ เมื่อคุณเจอกับปัญหาบางอย่างในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็น

เมื่อคุณเจอการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในชีวิต ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมอย่างการย้ายโรงเรียน การเปลี่ยนงาน การย้ายจังหวัดหรือย้ายประเทศ และการเปลี่ยนแปลงทางบทบาทบางอย่างในชีวิต อย่างการกลายเป็นพ่อ-แม่ การเกษียณหรือการหยุดทำงานแล้วกลับมาอยู่บ้าน
เมื่อคุณประสบกับกับเหตุการณ์ที่มีผลกระทบทางจิตใจ อย่างการสูญเสียไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ หรือสิ่งของที่รัก การเจอกับอุบัติเหตุร้ายแรง การเจอกับความรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจจากบุคคลอื่น หรือแม้กระทั่งเป็นหนึ่งในผู้เห็นเหตุการณ์ที่มีความรุนแรงหรือมีความสูญเสีย
เมื่อคุณพบกับความเครียดหรือความไม่สบายใจในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นจากการเรียน การทำงาน ความสัมพันธ์กับเพื่อน แฟน หรือคนในครอบครัว รวมไปถึงความเครียดที่มาจากเหตุการณ์หรือสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคม

แน่นอนว่าเมื่อเจอกับปัญหาหรือสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งข้างต้น ทุกคนย่อมเกิดความรู้สึกทางลบขึ้นไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นโกรธ หงุดหงิด ผิดหวัง เศร้าหรือเสียใจ ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของอารมณ์ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณรับรู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบกับคุณมากกว่าปกติจนกระทบกับการใช้ชีวิต เช่น คุณใช้เวลาในแต่ละวันไปกับการคิดหาทางออกหรือคิดวนเวียนเกี่ยวกับปัญหานานเกินไป ปัญหาเหล่านั้นกระทบกับกิจวัตรประจำวัน เช่น การกิน การนอน จนทำให้คุณภาพในการใช้ชีวิตของคุณลดลง ปัญหาเหล่านั้นส่งผลกระทบให้ประสิทธิภาพในการเรียนหรือการทำงานของคุณลดลง รวมถึงอาจส่งผลให้คุณเริ่มมีปัญหาในความสัมพันธ์กับคนรอบตัวและมีปัญหาในการจัดการอารมณ์ หงุดหงิดง่ายหรือทำให้ไม่อยากออกไปเจอผู้คน ตลอดจนปัญหาเหล่านั้นทำให้คุณพยายามใช้วิธีจัดการปัญหาที่อาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น การใช้สารเสพติด ก็อาจจะเป็นสัญญาณที่คุณอาจจะต้องนึกถึงถึงการมาหานักจิตวิทยาเพื่อพูดคุย ทำความเข้าใจ ยอมรับและหาทางจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น

ท้ังนี้ การมาพูดคุยกับนักจิตวิทยาไม่ได้หมายความว่าต้องคุณต้องมาด้วยปัญหาและความไม่สบายใจเท่านั้น เพราะอีกหนึ่งประเด็นที่ช่วยให้คุณตัดสินใจมาหานักจิตวิทยาก็คือ เมื่อคุณอยากที่จะพัฒนาและทำความเข้าใจตนเองให้มากขึ้น ทั้งในแง่ของ

การอยากที่จะหาสิ่งที่ตนเองสนใจ สิ่งที่ตนเองอยากทำ อยากหาเป้าหมายและแนวทางที่จะไปถึงเป้าหมายที่คุณให้ความสำคัญในชีวิต
การอยากที่จะพัฒนาทักษะของตัวคุณเอง เช่น ทักษะการสื่อสารกับคนรอบข้าง ทักษะการจัดการความเครียด การทักษะการรับมือกับปัญหา รวมไปถึงแนวทางในการสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง
การอยากที่จะตระหนักและเข้าใจตนเองให้มากขึ้น เพื่อให้เห็นถึงรูปแบบความคิด รูปแบบการตัดสินใจ เพื่อนำไปสู่การมองเห็นจุดแข็งและแนวทางในการพัฒนาข้อจำกัดของตนเอง

จะเห็นได้ว่าการมาหานักจิตวิทยานั้นไม่ได้จำกัดแค่การมาเพื่อหาทางจัดการหรือหาทางออกจากปัญหาที่เจอเท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยให้คุณได้มาพัฒนาและทำความเข้าใจตนเองมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งในการพูดคุยกับนักจิตวิทยา คุณจะได้มีโอกาสสำรวจและทำความเข้าใจตนเองเพื่อให้คุณได้มองเห็นแนวทางในการจัดการกับปัญหาหรือแนวทางในการพัฒนาตนเองได้อย่างเหมาะสมกับตนเองมากที่สุด

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า คำถามที่ว่า เมื่อไหร่ควรมาหานักจิตวิทยานั้น ไม่ได้มีคำตอบที่ตายตัวเพียงคำตอบใดคำตอบหนึ่ง และบางคนก็อาจมีเหตุผลอื่น ๆ นอกจากนี้ที่ทำให้ตัดสินใจเข้ามารับบริการกับนักจิตวิทยาก็ได้ แต่ประเด็นสำคัญสุดท้ายที่เราอยากเน้นย้ำก็คือ เมื่อไหร่ที่คุณเริ่มรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของสุขภาพใจตนเอง การเข้ามารับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญไม่ได้หมายความว่าคุณผิดปกติหรือกำลังอ่อนแอ แต่แสดงให้เห็นว่าคุณมีความต้องการและมีความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น

ชนิศา วุฒิโชติวรกิจ (ภูเขา)

ชนิศา วุฒิโชติวรกิจ (ภูเขา)

นักจิตวิทยาการปรึกษา on mind way counseling center

Tags :
Share This Post :

Related Post

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save