จิตแพทย์ vs นักจิตวิทยา…ควรไปหาใครดี?

รู้หรือไม่ จิตแพทย์ กับ นักจิตวิทยา ไม่ใช่อาชีพเดียวกันนะ…

วันนี้เลยจะมาอธิบายความแตกต่างของทั้ง 3 อาชีพนี้ เพื่อให้ทุกคนได้เลือกใช้บริการได้ตรงตามจุดประสงค์ และความต้องการของทุกคนกัน

 

เริ่มจาก จิตแพทย์ ก่อนเลย…

ขึ้นชื่อว่า “แพทย์” แน่นอนว่า เป้าหมายของอาชีพ ก็คือ “การรักษา” เพราะจิตแพทย์ ก็คือผู้ที่จบจากคณะแพทย์ แล้วมาเรียนต่อเฉพาะทางด้านจิตเวช ดังนั้น ถ้าเราเลือกที่จะไปหาจิตแพทย์ คุณหมอก็จะสอบถามอาการของเรา แล้ววินิจฉัยตามลักษณะอาการ คล้ายๆ กับเวลาเราไม่สบายทางกาย แล้วไปหาคุณหมอ แต่เป็นการหาคุณหมอทางใจแทน ซึ่งคุณหมอก็จะวินิจฉัยโดยอ้างอิงจากเกณฑ์ทางอาการของโรคทางจิตเวชต่างๆ เป็นหลัก เช่น เกณฑ์การวินิจฉัยโรคซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว เป็นต้น บวกกับการพิจารณาบนพื้นฐานของกลไกทางร่างกายด้วย เช่น ระบบสมอง สารสื่อประสาท ฮอร์โมน เป็นต้น

พอคุณหมอวินิจฉัยแล้ว ก็อาจจะจ่ายยามาให้เราทาน ตามแนวทางการรักษาต่างๆ

ถ้าหากใครที่มีภาวะซึมเศร้าในระดับสูง หรือมีอาการต่างๆ ในระดับรุนแรง ก็อาจจะจำเป็นต้องไปพบจิตแพทย์ เพื่อรับยามาช่วยในการปรับสภาวะอารมณ์เสียก่อน

 

ส่วน นักจิตวิทยา…

หากพูดถึง คำว่า “นักจิตวิทยา” จริงๆ แล้วความหมายค่อนข้างกว้างมากๆ เพราะในศาสตร์จิตวิทยาเองก็มีหลายสาขา แต่ที่เรากำลังพูดถึงอยู่คือ นักจิตวิทยาการปรึกษา หรือ (Counselor/Counseling Psychologist) ซึ่งเป็นคนที่เรียนจบด้านการให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยามาโดยตรง

ทุกคนอาจจะเคยเห็นผ่านๆ ในหนังฝรั่งหลายๆ เรื่อง ที่ตัวละครเข้าไปปรึกษาปัญหาของตนเองให้คนคนนึงที่เป็นผู้เชี่ยวชาญฟัง นั่นล่ะ คืองานของนักจิตวิทยาการปรึกษา ที่จะรับฟังเรื่องราวของผู้ที่เข้ามารับบริการ ทำความเข้าใจความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรม ให้เกิดความเข้าใจในความทุกข์ใจ หรือปัญหาให้ชัดเจนขึ้น เพื่อนำไปสู่การทบทวน และมองเห็นแนวทางในการรับมือ หรือแก้ไขปัญหาร่วมกันผ่านการพูดคุย

พูดสรุปสั้นๆ คือ การมาพูดคุยกับนักจิตวิทยา จะไม่ได้มุ่งเน้นการวินิจฉัยโรค และนักจิตวิทยาไม่สามารถจ่ายยาให้ได้ แต่จะเน้นการพูดคุยเพื่อให้ผู้รับบริการเข้าใจและจัดการกับสภาวะอารมณ์ รวมถึงปัญหาของตนเองได้ การปรึกษานักจิตวิทยาจึงเป็นเหมือนการมาทำความรู้จักกับจิตใจของตนเองให้มากขึ้น เพื่อให้เราสามารถรู้ใจตัวเอง และรับมือกับความกังวลต่างๆ ได้อย่างดีต่อใจมากขึ้น

ทั้งนี้ จิตแพทย์บางท่านก็อาจมีทักษะในการรับฟัง พูดคุยและบำบัดด้วยเช่นกัน จึงอาจขึ้นอยู่กับลักษณะการทำงานของจิตแพทย์แต่ละท่าน และในประเทศไทย โรงพยาบาลบางแห่งก็อาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการเข้ารับการบำบัดแยกกับการตรวจวินิจฉัย หรือบางแห่งอาจแนะนำให้รักษาควบคู่กับการบำบัดโดยนักจิตวิทยาด้วย

 

สำหรับคนที่ลังเลอยู่ ว่าจะต้องไปหาใครก่อน คำตอบก็คงขึ้นอยู่กับเป้าหมายที่เราต้องการ หากมีอาการที่ค่อนข้างรุนแรง หรือต้องการการรักษาทางการแพทย์และรับยามาเพื่อช่วยปรับสภาวะอารมณ์ การพบจิตแพทย์น่าจะตรงกับความต้องการมากกว่า แต่ถ้าอยากพูดคุย เพื่อทำความเข้าใจความเครียด ความทุกข์ในใจ และหาทางรับมือกับสภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับตนเอง นักจิตวิทยาก็เป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ตรงนี้ได้ดีเช่นกัน

ศุภวรรณ ใหญ่เสมอ (เบล)

ศุภวรรณ ใหญ่เสมอ (เบล)

นักจิตวิทยาการปรึกษา on mind way counseling center

Tags :
Share This Post :

Related Post

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save